ฉีดวัคซีน : 7 มิ.ย. ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครั้งใหญ่

getty

ที่มาของภาพ, Getty Images

วันที่ 7 มิ.ย. 2564 เป็นวันที่ประชาชนไทยใน กลุ่มผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัว และประชาชนในพื้นที่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างกรุงเทพมหานคร จะได้เริ่มได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งนับเป็นการระดมฉีดวัคซีนกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย

กลางสัปดาห์ที่แล้ว กรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ภายในสุดสัปดาห์จะมีวัคซีนกระจายไปยังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ราว 2 ล้านโดส (2 มิ.ย.) และมีการส่งมอบวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ล็อตแรกจำนวน 1.8 ล้านโดส ให้กับกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.

ทว่าก่อนการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ไม่กี่วัน มีหลายโรงพยาบาลในหลายพื้นที่ประกาศชะลอการฉีดวัคซีน หลายแห่งเลื่อนนัดผู้มีคิวรับฉีดของวันที่ 8 มิ.ย. ออกไป เพื่อรอรับการจัดสรรวัคซีนที่ทยอยส่งมาจากส่วนกลาง อันเป็นภาวะวัคซีน “กระจายไม่ทัน” ทำให้บางโรงพยาบาลตัดสินใจประกาศและโทรแจ้งเลื่อนกับผู้มีคิวฉีดในช่วงวันที่ 8 มิ.ย. ออกไป

โรงพยาบาลอย่างน้อย 8 แห่ง เลื่อนฉีดวัคซีน เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี และโรงพยาบาลสระบุรี โพสต์ประกาศบนเฟซบุ๊ก วานนี้ (5 มิ.ย.) ว่าผู้ที่จองคิวไว้วันที่ 7 มิ.ย. ฉีดตามปกติ ส่วนผู้ที่จองคิวฉีด 8 มิ.ย. ขอเลื่อนการฉีดออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่ได้รับจัดสรรวัคซีน

อย่างไรก็ตาม บางจังหวัด เช่น ฉะเชิงเทรา มีการยืนยันนัดหมายฉีดแก่ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ หรือที่ จ.เลย ที่ผู้ว่าฯ ที่ออกประกาศยกเลิกใบนัดหมายฉีดวัคซีน ก็ออกมาชี้แจงผ่านประกาศอีกฉบับภายหลังว่า เพิ่งได้รับวัคซีนที่ส่งมาเพิ่มอีก 6,400 โดส เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. จากเดิมที่ได้จัดสรร 3,600 โดส

ภายหลังมีประกาศเลื่อนฉีดออกมาจากหลายพื้นที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่า วัคซีนล็อตแรก 1.8 ล้านโดส ได้ดำเนินการจัดส่งไปแต่ละจังหวัดเพื่อให้ประชาชนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไป และขอให้ทุกโรงพยาบาลทำตามมติของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่มีการยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนแผนการฉีดใด ๆ

“ทั้งนี้หากจังหวัดหรือ รพ. ใด ยังมีการยกเลิกหรือแจ้งเลื่อน ขอให้จังหวัดหรือ รพ.นั้น ๆ รวมทั้งกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัด เป็นผู้ตอบคำถาม และชี้แจงเหตุผลดังกล่าวด้วยครับ” นายสาธิต ระบุ

การฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ของประเทศที่จะเริ่มต้นในวันที่ 7 มิ.ย. ประชาชนผู้เข้ารับการฉีดต้องเตรียมตัวอย่างไร ผู้ที่กินยาอื่นหรือมีภาวะของร่างกายหรือเจ็บป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ บีบีซีไทยรวบรวมคำแนะนำจากแพทย์และสาธารณสุขมาไว้ ณ ที่นี้

วัคซีนที่ฉีด มีทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า

วัคซีนทั้งสองยี่ห้อนี้เป็นวัคซีนหลักที่ใช้ฉีดให้กับคนไทย สำหรับในระยะแรกของการฉีดในเดือน มิ.ย. วัคซีนหลักจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้า

จากข้อมูลล่าสุดตามการเปิดเผยของ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. วัคซีนโควิดจำนวนกว่า 2 ล้านโดสจะถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นแอสตร้าเซเนก้ากว่า 1,240,000 โดส และซิโนแวค 700,000 โดส (ข้อมูล 2 มิ.ย.)

ยี่ห้อวัคซีนที่แต่ะละคนจะได้รับนั้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าคนที่จองผ่านระบบหมอพร้อมจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข

คำแนะนำทั่วไปก่อนไปฉีดวัคซีน

กระทรวงสาธารณสุขได้มี 7 ข้อแนะนำ ดังนี้

  • สองวันก่อนและหลังการฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก
  • หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที
  • ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ดซ้ำได้ถ้าจำเป็นแต่ให้ห่าง 6 ชม.ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
  • การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
  • ถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที

รับเคมีบำบัด ความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง หากอาการคงที่ แพทย์แนะนำฉีดวัคซีนได้

หากมีโรคประจำตัวเช่น ความดันสูง เบาหวาน เป็นโรคไตเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัดอยู่ สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าสามารถฉีดวัคซีนได้อย่างปลอดภัย และแนะนำให้ได้รับการฉีดทันทีถ้าทำได้

แนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนโควิด-19 แก่ผู้ใหญ่และผู้ป่วยอายุรกรรม โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ระบุคำแนะนำว่าคนที่มีโรคประจำตัว ดังต่อไปนี้ ฉีดวัคซีนได้

1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งอยู่ในภาวะคงที่ ได้แก่

  • โรคความดันเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน
  • โรคหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ
  • โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
  • โรคติดเชื้อเอชไอวี
  • โรคข้ออักเสบ/ โรคแพ้ภูมิตัวเอง
  • โรคสะเก็ดเงิน
  • โรคภูมิแพ้
  • ภาวะสมองเสื่อมอัมพาต อัมพฤกษ์
  • โรคไตเรื้อรัง
  • ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง
  • โรคหืด/ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อ
  • ไขกระดูกทำงานผิดปกติ
  • โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา และโรคมะเร็งอื่น

2. ผู้ป่วยที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างรับการบำบัดด้วยยาและวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ เคมีบำบัด รังสีรักษา การบำบัดทดแทนไต, ยากดภูมิคุ้มกันที่อาการของโรคสงบ, ยาควบคุมอาการของโรคต่าง ๆ

3. ผู้ป่วยที่เลือดออกง่าย เกล็ดเลือดต้ำหรือเกล็เลือดทำงานผิดปกติ

4. บุคคลที่มีประวัติแพ้อาหารหรือแพ้ยาต่าง ๆ

ที่มาของภาพ, Getty Images

ผู้ป่วยโรคชนิดเฉียบพลัน เช่น หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ความดันเลือดสูงฉุกเฉิน ให้มีอาการให้คงที่ก่อนรับวัคซีน

  • ผู้ที่มีประวัติแอนาฟิแลกซ์จากวัคซีนมาก่อน ให้ตรวจสอบส่วนประกอบของวัคซีนที่เคยแพ้ เพื่อรับวัคซีนที่ไม่มีส่วนประกอบเดียวกัน
  • ผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่เสถียร หรือยังมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โรคความดันเลือดสูงฉุกเฉิน โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืดที่มีอาการกำเริบ และผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัด แนะนำให้รับวัคซีนต่อเมื่อควบคุมอาการได้คงที่แล้วหรือก่อนจำหน่ายกลับ
  • ผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง แนะนำให้รอจนกระทั่งพ้นช่วงที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรงก่อน เมื่อจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลเกิน 1,000 เซลล์ ต่อไมโครลิตร จึงรับวัคซีนได้
  • ผู้ป่วยโรคเลือดซึ่งได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซล) หรือบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน CAR-T cell แนะนำให้ฉีดหลังจากพ้น 3 เดือนไปแล้ว
  • ผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต ตับ ปอด หัวใจ ให้รับวัคซีนเมื่อพ้น 1 เดือน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยแอนติบอดี หรือได้รับยาแอนติบอดี หากเป็นผู้ป่วยโควิด ที่บำบัดด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายแล้ว ฉีดได้เมื่อพ้น 3 เดือน

ฮอร์โมนเพศหญิง กินยาคุมกำเนิด และหญิงตั้งครรภ์ ฉีดได้หรือไม่

กรณีหญิงอายุ 32 ปี ที่ จ.สงขลา ฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อซิโนแวค แล้วเสียชีวิตหลังฉีดราว 8 วัน ด้วยอาการเลือดอุดตันในปอด โดยคนใกล้ชิดให้ข้อมูลจากแพทย์ที่โทรปรึกษารายหนึ่งว่า การกินยาคุมกำเนิดอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดสูง

กรณีนี้ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า การแข็งตัวของเลือดในเส้นเลือดดำใหญ่อันเกิดจากฮอร์โมนเพศหญิงไม่เหมือนกับการเกิดลิ่มเลือดที่พบในวัคซีนไวรัสเวคเตอร์ เช่น แอสตร้าเซนเนก้า และจอนห์นสันแอนด์จอห์นสัน

ส่วนวัคซีนซิโนแวค นพ.ยง ระบุว่า เป็นเชื้อตายคล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบเอที่ใช้กันมานานมาก ไม่มีวัคซีนตัวไหนที่แนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิด รวมทั้งวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบันที่ฉีดไปแล้วทั่วโลกเกือบ 1,800 ล้านโดส ไม่ได้มีการแนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิดก่อนฉีดวัคซีน

เกี่ยวกับกรณีนี้ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ออกประกาศ ระบุว่าผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ แต่หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม มีแพทย์ที่เห็นต่างออกไป นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้คำแนะนำว่า ผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงสำหรับคุมกำเนิดหรือภาวะเกี่ยวข้องกับข้อมูลควรที่จะหยุดก่อนที่จะฉีดวัคซีนทั้งนี้อย่างน้อย 14 วัน ถ้าทำได้

ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ยังระบุเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์ด้วยว่าสามารถรับวัคซีนได้ ยกเว้นกรณีที่มีข้อห้าม เช่น มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งแรก นอกจากนี้ระยะเวลาที่ควรฉีดวัคซีนคือ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน และหญิงที่ให้นมบุตรสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้

WHO ว่าอย่างไร เกี่ยวกับวัคซีนหลักในไทย

องค์การอนามัยโลก ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน เรื่อง ข้อมูลโควิดและการกระจายวัคซีนในประเทศไทย ผ่านทางทางซูม มีข้อมูลที่น่าสนใจ นำเสนอโดย ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ดังนี้

หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้เปิดข้อมูลของวัคซีนที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก พบว่า แอสตร้าเซนเนก้ามาเป็นอันดับ 1 ตามด้วย ไฟเซอร์ ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นา และกามาลาย่าของรัสเซีย และยังมีวัคซีนหลาย ๆ ชนิดที่ทยอยส่งเอกสารเพื่อใช้ในการอนุมัติการใช้ฉุกเฉิน

สำหรับวัคซีนหลักที่ใช้ในไทย ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ดร. ซุมยา กล่าวว่า ในการทดลองหลาย ๆ ประเทศ พบว่าแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพ 63% ในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการ

อย่างไรก็ตาม ตามที่มีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มีอัตราการเกิด 1 ในล้าน หรือพบ 4 โดส ใน 1 ล้านโดส และให้คำแนะนำว่า หากโดสแรกฉีดแอสตร้าเซนเนก้า โดสที่สองก็ควรจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าเช่นเดียวกัน

นักวิทยาศาสตร์ของ WHO ยังได้แสดงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ที่ WHO เพิ่งอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินตัวล่าสุด ว่าเป็นวัคซีนเชื้อตายทั้งสองยี่ห้อนี้ ป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 100% สามารถฉีดในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องฉีด 2 โดส นอกจากนี้สามารถใช้ได้ในกลุ่มคนที่อาจจะมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำด้วย แต่กรณีผู้ที่มีปฏิกิริยาแพ้รุนแรงเมื่อฉีดโดสที่ 1 ไม่ควรจะฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันในโดสที่ 2

จากตารางที่มีการนำเสนอ พบว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม มีการระบุอายุขั้นต่ำอยู่ที่ 18 ปี ส่วนอายุสูงสุดไม่มีการกำหนดไว้ แต่มีหมายเหตุว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปจำกัด

ชี้ไม่ควรเทียบประสิทธิภาพวัคซีน

สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนตามรายงานขององค์การอนามัยโลก เมื่อรับครบสองโดส มีดังนี้

แอสตร้าเซนเนก้า 63% ซิโนแวค 51% ซิโนฟาร์ม 79%

อย่างไรก็ดี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก บอกว่าไม่ควรเปรียบเทียบประสิทธิภาพ เนื่องจากระเบียบการวิจัยของแต่ละประเทศต่างกัน รวมไปถึงระดับการระบาด ท้ายที่สุดต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของวัคซีนในการป้องกันการเสียชีวิตและเจ็บป่วย

“เราไม่สามารถเปรียบเทียบกันว่าแบบนี้ 65% หรือ 90% ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ด้วย”

WHO กล่าวอีกว่า ตอนนี้กำลังจะมีวัคซีนที่อนุมัติให้ใช้ในกลุ่มประชากรเด็ก คือ ไฟเซอร์ แต่เธอย้ำว่าอาจจะไม่กังวลกับเด็กและเยาวชนมาก เพราะหากเด็กติดเชื้อจะไม่รุนแรงเท่ากับกลุ่มสูงอายุและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว

ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มีภูมิคุ้มกันนานแค่ไหน

ดร.ซุมยา ระบุว่า ข้อมูลที่องค์การอนามัยโลกมีเท่ากับช่วงระยะเวลาของการเกิดโรค คือ ราว 6 เดือนเท่านั้น แต่การทดลองในคนยังมีไม่มาก หากจะเห็นภาพได้ชัดขึ้นต้องใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้ผลิตวัคซีนกำลังพยายามศึกษาว่าจะต้องฉีดกระตุ้นมากน้อยแค่ไหน

นักวิทยาศาสตร์จาก WHO ย้ำว่า วัคซีนทุกชนิด ยังอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการตั้งโคฮอร์ทที่รับข้อมูลจากหลาย ๆ ประเทศ

หากฉีดครบ 2 โดสแล้วยังติดเชื้อ จะมีการฉีดกระตุ้นหรือไม่

ดร.ซุมยา ตอบคำถามนี้ว่า สำหรับการฉีดกระตุ้นโดสที่ 3 ยังไม่มีคำแนะนำออกมา ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 2 โดส โดยจะต้องฉีดให้ครบถ้วนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม

ฉะเชิงเทรา

ฉะเชิงเทรา

แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย อ่างฤๅไนป่าสมบูรณ์

Related Posts

Next Post

บทความแนะนำ

หมวดบทความ

การก่อสร้าง การขนถ่ายสินค้า การขนส่งทางทะเลหลวง การขุด หรือเจาะบ่อน้ำ การค้าวัสดุก่อสร้าง การฆ่าสัตว์ การติดตั้งประปาสายหลัก การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การปั้มโลหะ การผลิต การบรรจุก๊าซ การผลิตน้ำมันพืช การผลิตน้ำแข็ง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตรองเท้า การผลิตเคมีภัณฑ์ การรีดโลหะ ผลิตเหล็ก การหล่อหลอม การกลึงโลหะ การเคลือบ ชุบ อาบขัดโลหะ การเลี้ยงสัตว์ กิจกรรม ข่าว ตรวจหวย ธุรกิจ บริษัท มูลนิธิ ร้านค้า ร้านอาหาร วิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยว สถานศึกษา สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 1 สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 2 สพม.เขต 6 หน่วยงานราชการ อบต. เอสเอ็มอี แฟรนไชส์ โรงงาน โรงพยาบาล บริการสุขภาพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนศิลปะและกีฬา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนสามัญ โอทอป

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.