พลันที่ราชวิทยาลัยฯ เปิดการแถลงข่าวว่าจะมีการสั่งวัคซีนซิโนฟาร์มเข้ามา นายก อบจ.ปทุมธานีก็ประกาศในที่แถลงข่าวว่าจะดำเนินการสั่งจองวัคซีนจากราชวิทยาลัยฯ และตามด้วย อบจ.อื่นๆอีกกว่า 20 จังหวัด อาทิ เชียงราย,นครศรีธรรมราช,ลพบุรี,สมุทรสาคร,ฉะเชิงเทรา ฯลฯ หลังจากที่เคยถูกผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยไว้ในต้นปี2563ว่าในช่วงแรกควรให้เฉพาะศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.) เป็นผู้ดำเนินการ แต่เมื่อ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมาประธานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แถลงว่าสถานการณ์ปัจจุบันได้พ้นระยะแรกตามคำวินิจฉัยเดิมไปแล้ว ซึ่งก็มีประเด็นถกเถียงกันอย่างมาก ว่าท้องถิ่นซื้อวัคซีนเองได้หรือไม่ได้ มีเงินหรือไม่ ท้องถิ่นเล็กใหญ่มีเงินไม่เท่ากัน และที่สำคัญก็คือว่าตกลงควรเป็นหน้าที่หรืองบประมาณของใครในการจัดซื้อวัคซีนนี้
1.ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ที่จะจัดซื้อวัคซีนได้หรือไม่
เป็นที่ชัดเจนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ทุกประเภทได้บัญญัติไว้ว่า อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท.สามารถทำได้ ตัวอย่าง กรณี อบจ. การป้องกันและควบคุมโรคบัญญัติไว้ชัด ใน พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 มาตรา 45 (8) และ ตามข้อ 14 แห่งกฎกระทรวง พ.ศ.2541 และ พ.ร.บ.อบจ.มาตรา 45 (9) และ ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท.พ.ศ.2542 มาตรา 17 (19) เป็นต้น
ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรอิสระอื่นไม่ว่าจะเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินหรือกระทรวงมหาดไทยไม่สามารถยกเลิกเพิกถอนหรือห้ามมิให้ อปท.ทำได้หาก อปท.ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบกฎหมายต่างๆ เช่น ระเบียบ มท.ว่าด้วยการงบประมาณ ระเบียบเบิกจ่าย รวมทั้งหนังสือสั่งการของ มท.ที่เกี่ยวข้องและการจัดซื้อที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐฯ รวมทั้งหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง การจัดซื้อต้องดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับสาธารณสุข เช่น ต้องผ่านการรับรองของ อย.ทั้งชนิดยา และผู้มีสิทธินำเข้า
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเกี่ยวกับโควิด-19 ซึ่งมีการประกาศเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ต้องดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งต่อมาได้มีประกาศให้โอนอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 มาเป็นของ ศบค. ดังนั้น การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดซื้อวัคซีน จึงอยู่ในอำนาจการพิจารณาสั่งการของ ศบค. เมื่อ ศบค.ประกาศให้ อปท.จัดซื้อวัคซีนได้ตามประกาศฯ ลว. 8 มิ.ย.64 อปท.ก็สามารถจัดซื้อวัคซีนได้ เพราะกฎหมายจัดตั้งฯให้อำนาจไว้อยู่แล้ว แต่ต้องสอดคล้องกับแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ ศบค.หรือนายกรัฐมนตรีกำหนดอยู่ดี
2.จะเอาเงินจากไหน
เมื่อ ศบค.อนุมัติให้ อปท.ซื้อวัคซีนเองได้ แน่นอนว่าในภาวะเร่งด่วนก็ย่อมหนีไม่พ้นการใช้เงินสะสมของท้องถิ่นเองเพราะเงินอุดหนุนทั่วไป หรือเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจะต้องจัดทำแผนงานโครงการล่วงหน้า ซึ่ง ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2547 แก้ไข (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ข้อ 89 อปท.อาจใช้จ่ายเงินสะสมได้ โดยได้รับอนุมัติจากสภาท้องถิ่นภายใต้เงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ให้กระทำได้เฉพาะกิจการซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท.ซึ่งเกี่ยวกับด้านการบริการชุมชนและสังคม หรือกิจการที่เป็นการเพิ่มพูนรายได้ของ อปท.หรือกิจการที่จัดทำเพื่อบำบัดความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามแผนพัฒนาของ อปท.หรือตามที่กฎหมายกำหนด
(2) ได้ส่งเงินสมทบกองทุนส่งเสริมกิจการของ อปท.แต่ละประเภทตามระเบียบแล้ว
(3) ให้กันเงินสะสมสำรองจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่น้อยกว่าสามเดือนและกันไว้อีกร้อยละสิบของงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและกรณีที่มีสาธารณภัยเกิดขึ้น (4) เมื่อได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายเงินสะสมแล้ว อปท.ต้องดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปีถัดไป หากไม่ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนดให้การใช้จ่ายเงินสะสมนั้นเป็นอันพับไป
ทั้งนี้ ให้ อปท.ใช้จ่ายเงินสะสม โดยคำนึงถึงฐานะการเงินการคลังของ อปท.และเสถียรภาพในระยะยาว
ข้อ 89/1 ในกรณีที่มีภารกิจตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลหรือกระทรวงมหาดไทยและจำเป็นต้องให้ อปท.เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายจากงบประมาณของ อปท.และงบประมาณดังกล่าวไม่เพียงพอและไม่ต้องด้วยเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสมตามข้อ 87 และข้อ 89 ปลัดกระทรวงมหาดไทยอาจอนุมัติยกเว้นให้ อปท.ใช้จ่ายจากเงินสะสมหรือเงินทุนสำรองเงินสะสมได้โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
3. อปท.ควรซื้อเองหรือไม่
กรณีการระบาดของ โควิด-19 นี้เป็นโรคระบาดขนาดใหญ่ ไม่มีเขตแดน ไม่มีแนวกำแพงกั้น ผู้ที่รับผิดชอบต้องเป็นรัฐ เพราะโรคระบาดแบบนี้ประชาชนต้องได้รับการบริการ “ฟรี” ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 47 วรรคท้ายที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แต่ว่าก็อย่างที่เราเผชิญอยู่ ปัญหาคือรัฐบาลไม่อาจบริหารจัดการวัคซีนตามที่ประชาชนต้องการอย่างเพียงพอได้ ก็เลยทำให้ผู้นำท้องถิ่นอึดอัด จนต้องออกมาเสนอจัดซื้อวัคซีนเพื่อนำไปฉีดให้ประชาชนในพื้นที่ตัวเอง
ซึ่งก็ไม่ผิดที่ผู้บริหารท้องถิ่นอยากจะทำเรื่องนี้ให้ประชาชน แต่ปัญหานี้เป็นปัญหาเรื่องของการระบาดหนักของโรคติดต่ออันตรายซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาล เงินที่ใช้จึงต้องเป็นเงินส่วนกลาง สำหรับเงินสะสม งบฯ ท้องถิ่น นั้น กว่าจะเก็บได้ก็ไม่ใช่ง่ายๆ และมีเรื่องที่ต้องนำไปใช้ในสิ่งจำเป็นอื่นอีกมากที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อปท. มิใช่นำไปใช้ในเรื่องนี้อย่างเดียวทั้งหมด
4. เข้าข่ายประชานิยมหรือไม่
อย่าลืมว่าเรายังมี “ข้อห้ามทำประชานิยม” ตาม มาตรา 9 วรรคท้าย ประกอบมาตรา4 (6) และมาตรา17 (5) แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 อยู่ เราต้องพิจารณาด้วยว่าการใช้เงินสะสมฯนี้จะถือเป็นการเปิดช่องให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นไปสร้าง “ความนิยมทางการเมือง” ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเงินสะสมของ อปท.และต่อประชาชนในอนาคตหรือไม่อีกด้วย
สรุป
ผมจึงขอสรุปว่าผมไม่เห็นด้วยที่จะใช้เงินของ อปท.ในการจัดซื้อวัคซีนมาฉีดให้ประชาชน แต่เห็นด้วยที่จะให้ อปท.ดำเนินการเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนในพื้นที่ตนเองเพราะ “ไม่มีใครรู้ปัญหาของท้องถิ่นดีกว่าคนท้องถิ่น” ซึ่งต้องเปิดเผย โปร่งใส ชัดเจน โดยใช้เงินงบประมาณจากส่วนกลางของรัฐบาลหรือให้ท้องถิ่นออกไปก่อนแล้วรัฐบาลชดใช้คืนทีหลัง และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดระบบ “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” เพราะ อปท.เล็กใหญ่มีเงินไม่เท่ากันนั่นเอง