วันที่ 7 มิ.ย. 2564 เป็นวันที่ประชาชนไทยใน กลุ่มผู้สูงอายุ-กลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัว และประชาชนในพื้นที่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างกรุงเทพมหานคร จะได้เริ่มได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งนับเป็นการระดมฉีดวัคซีนกลุ่มใหญ่ของประเทศไทย
กลางสัปดาห์ที่แล้ว กรมควมคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ภายในสุดสัปดาห์จะมีวัคซีนกระจายไปยังทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ราว 2 ล้านโดส (2 มิ.ย.) และมีการส่งมอบวัคซีนจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ส่งมอบวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ล็อตแรกจำนวน 1.8 ล้านโดส ให้กับกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.
ทว่าก่อนการฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ไม่กี่วัน มีหลายโรงพยาบาลในหลายพื้นที่ประกาศชะลอการฉีดวัคซีน หลายแห่งเลื่อนนัดผู้มีคิวรับฉีดของวันที่ 8 มิ.ย. ออกไป เพื่อรอรับการจัดสรรวัคซีนที่ทยอยส่งมาจากส่วนกลาง อันเป็นภาวะวัคซีน “กระจายไม่ทัน” ทำให้บางโรงพยาบาลตัดสินใจประกาศและโทรแจ้งเลื่อนกับผู้มีคิวฉีดในช่วงวันที่ 8 มิ.ย. ออกไป
โรงพยาบาลอย่างน้อย 8 แห่ง เลื่อนฉีดวัคซีน เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จ.ชลบุรี และโรงพยาบาลสระบุรี โพสต์ประกาศบนเฟซบุ๊ก วานนี้ (5 มิ.ย.) ว่าผู้ที่จองคิวไว้วันที่ 7 มิ.ย. ฉีดตามปกติ ส่วนผู้ที่จองคิวฉีด 8 มิ.ย. ขอเลื่อนการฉีดออกไปก่อน เนื่องจากยังไม่ได้รับจัดสรรวัคซีน
อย่างไรก็ตาม บางจังหวัด เช่น ฉะเชิงเทรา มีการยืนยันนัดหมายฉีดแก่ผู้ที่ลงทะเบียนไว้ หรือที่ จ.เลย ที่ผู้ว่าฯ ที่ออกประกาศยกเลิกใบนัดหมายฉีดวัคซีน ก็ออกมาชี้แจงผ่านประกาศอีกฉบับภายหลังว่า เพิ่งได้รับวัคซีนที่ส่งมาเพิ่มอีก 6,400 โดส เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. จากเดิมที่ได้จัดสรร 3,600 โดส
ภายหลังมีประกาศเลื่อนฉีดออกมาจากหลายพื้นที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. ว่า วัคซีนล็อตแรก 1.8 ล้านโดส ได้ดำเนินการจัดส่งไปแต่ละจังหวัดเพื่อให้ประชาชนที่ลงทะเบียนหมอพร้อมฉีดตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. เป็นต้นไป และขอให้ทุกโรงพยาบาลทำตามมติของกระทรวงสาธารณสุข โดยไม่มีการยกเลิก หรือปรับเปลี่ยนแผนการฉีดใด ๆ
“ทั้งนี้หากจังหวัดหรือ รพ. ใด ยังมีการยกเลิกหรือแจ้งเลื่อน ขอให้จังหวัดหรือ รพ.นั้น ๆ รวมทั้งกรรมการควบคุมโรคติดต่อประจำจังหวัด เป็นผู้ตอบคำถาม และชี้แจงเหตุผลดังกล่าวด้วยครับ” นายสาธิต ระบุ
การฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ของประเทศที่จะเริ่มต้นในวันที่ 7 มิ.ย. ประชาชนผู้เข้ารับการฉีดต้องเตรียมตัวอย่างไร ผู้ที่กินยาอื่นหรือมีภาวะของร่างกายหรือเจ็บป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้ารับวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่ บีบีซีไทยรวบรวมคำแนะนำจากแพทย์และสาธารณสุขมาไว้ ณ ที่นี้
วัคซีนที่ฉีด มีทั้งซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า
วัคซีนทั้งสองยี่ห้อนี้เป็นวัคซีนหลักที่ใช้ฉีดให้กับคนไทย สำหรับในระยะแรกของการฉีดในเดือน มิ.ย. วัคซีนหลักจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้า
จากข้อมูลล่าสุดตามการเปิดเผยของ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. วัคซีนโควิดจำนวนกว่า 2 ล้านโดสจะถูกกระจายไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ ในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นแอสตร้าเซเนก้ากว่า 1,240,000 โดส และซิโนแวค 700,000 โดส (ข้อมูล 2 มิ.ย.)
ยี่ห้อวัคซีนที่แต่ะละคนจะได้รับนั้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าคนที่จองผ่านระบบหมอพร้อมจะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และสาธารณสุข
คำแนะนำทั่วไปก่อนไปฉีดวัคซีน
กระทรวงสาธารณสุขได้มี 7 ข้อแนะนำ ดังนี้
- สองวันก่อนและหลังการฉีดวัคซีนให้งดออกกำลังกายหนัก หรือยกน้ำหนัก และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- วันที่ฉีดควรกินน้ำอย่างน้อย 500-1,000 ซีซี งดชา กาแฟ หรือของที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ฉีดแขนข้างที่ไม่ค่อยถนัด และหลังฉีดสองวันอย่าใช้แขนนั้น อย่าเกร็งยกของหนัก
- หลังฉีดแล้วเจ้าหน้าที่จะให้รอดูอาการในบริเวณที่ฉีด 30 นาที
- ถ้ามีไข้ หรือปวดเมื่อยมากทนไม่ไหว สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม ครั้งละหนึ่งเม็ดซ้ำได้ถ้าจำเป็นแต่ให้ห่าง 6 ชม.ห้ามกินยาพวก Brufen, Arcoxia, Celebrex เด็ดขาด
- การฉีดวัคซีนโควิดควรห่างกับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่อย่างน้อย 1 เดือน
- ถ้ากินยาละลายลิ่มเลือดอยู่ ก็ให้กินยาตามปกติ แต่เมื่อฉีดยาแล้วให้กดนิ่งตรงตำแหน่งที่ฉีดต่ออีก 1 นาที
รับเคมีบำบัด ความดันสูง เบาหวาน มะเร็ง หากอาการคงที่ แพทย์แนะนำฉีดวัคซีนได้
หากมีโรคประจำตัวเช่น ความดันสูง เบาหวาน เป็นโรคไตเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่รับเคมีบำบัดอยู่ สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้หรือไม่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่าสามารถฉีดวัคซีนได้อย่างปลอดภัย และแนะนำให้ได้รับการฉีดทันทีถ้าทำได้
แนวทางเวชปฏิบัติการให้วัคซีนโควิด-19 แก่ผู้ใหญ่และผู้ป่วยอายุรกรรม โดยราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ระบุคำแนะนำว่าคนที่มีโรคประจำตัว ดังต่อไปนี้ ฉีดวัคซีนได้
1. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ซึ่งอยู่ในภาวะคงที่ ได้แก่
- โรคความดันเลือดสูงหรือโรคเบาหวาน
- โรคหัวใจและหลอดเลือดต่าง ๆ
- โรคระบบทางเดินอาหารและตับ
- โรคติดเชื้อเอชไอวี
- โรคข้ออักเสบ/ โรคแพ้ภูมิตัวเอง
- โรคสะเก็ดเงิน
- โรคภูมิแพ้
- ภาวะสมองเสื่อมอัมพาต อัมพฤกษ์
- โรคไตเรื้อรัง
- ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง
- โรคหืด/ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ผู้ป่วยโรคไขกระดูกฝ่อ
- ไขกระดูกทำงานผิดปกติ
- โรคมะเร็งทางโลหิตวิทยา และโรคมะเร็งอื่น
2. ผู้ป่วยที่ได้รับหรืออยู่ระหว่างรับการบำบัดด้วยยาและวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ เคมีบำบัด รังสีรักษา การบำบัดทดแทนไต, ยากดภูมิคุ้มกันที่อาการของโรคสงบ, ยาควบคุมอาการของโรคต่าง ๆ
3. ผู้ป่วยที่เลือดออกง่าย เกล็ดเลือดต้ำหรือเกล็เลือดทำงานผิดปกติ
4. บุคคลที่มีประวัติแพ้อาหารหรือแพ้ยาต่าง ๆ
ผู้ป่วยโรคชนิดเฉียบพลัน เช่น หัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ความดันเลือดสูงฉุกเฉิน ให้มีอาการให้คงที่ก่อนรับวัคซีน
- ผู้ที่มีประวัติแอนาฟิแลกซ์จากวัคซีนมาก่อน ให้ตรวจสอบส่วนประกอบของวัคซีนที่เคยแพ้ เพื่อรับวัคซีนที่ไม่มีส่วนประกอบเดียวกัน
- ผู้ป่วยที่เพิ่งมีอาการหรืออาการยังไม่เสถียร หรือยังมีอาการที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน โรคความดันเลือดสูงฉุกเฉิน โรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหืดที่มีอาการกำเริบ และผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัด แนะนำให้รับวัคซีนต่อเมื่อควบคุมอาการได้คงที่แล้วหรือก่อนจำหน่ายกลับ
- ผู้ป่วยที่มีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรง แนะนำให้รอจนกระทั่งพ้นช่วงที่มีเม็ดเลือดขาวต่ำรุนแรงก่อน เมื่อจำนวนเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิลเกิน 1,000 เซลล์ ต่อไมโครลิตร จึงรับวัคซีนได้
- ผู้ป่วยโรคเลือดซึ่งได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (สเต็มเซล) หรือบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน CAR-T cell แนะนำให้ฉีดหลังจากพ้น 3 เดือนไปแล้ว
- ผู้ป่วยที่ผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น ไต ตับ ปอด หัวใจ ให้รับวัคซีนเมื่อพ้น 1 เดือน
- ผู้ป่วยที่ได้รับการบำบัดด้วยแอนติบอดี หรือได้รับยาแอนติบอดี หากเป็นผู้ป่วยโควิด ที่บำบัดด้วยพลาสมาจากผู้ป่วยที่หายแล้ว ฉีดได้เมื่อพ้น 3 เดือน
ฮอร์โมนเพศหญิง กินยาคุมกำเนิด และหญิงตั้งครรภ์ ฉีดได้หรือไม่
กรณีหญิงอายุ 32 ปี ที่ จ.สงขลา ฉีดวัคซีนโควิดยี่ห้อซิโนแวค แล้วเสียชีวิตหลังฉีดราว 8 วัน ด้วยอาการเลือดอุดตันในปอด โดยคนใกล้ชิดให้ข้อมูลจากแพทย์ที่โทรปรึกษารายหนึ่งว่า การกินยาคุมกำเนิดอาจเกี่ยวข้องกับการเกิดลิ่มเลือดสูง
กรณีนี้ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า การแข็งตัวของเลือดในเส้นเลือดดำใหญ่อันเกิดจากฮอร์โมนเพศหญิงไม่เหมือนกับการเกิดลิ่มเลือดที่พบในวัคซีนไวรัสเวคเตอร์ เช่น แอสตร้าเซนเนก้า และจอนห์นสันแอนด์จอห์นสัน
ส่วนวัคซีนซิโนแวค นพ.ยง ระบุว่า เป็นเชื้อตายคล้ายกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พิษสุนัขบ้า ตับอักเสบเอที่ใช้กันมานานมาก ไม่มีวัคซีนตัวไหนที่แนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิด รวมทั้งวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบันที่ฉีดไปแล้วทั่วโลกเกือบ 1,800 ล้านโดส ไม่ได้มีการแนะนำให้หยุดยาคุมกำเนิดก่อนฉีดวัคซีน
เกี่ยวกับกรณีนี้ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ออกประกาศ ระบุว่าผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนทุกชนิด รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดการใช้ แต่หากยังมีความกังวลใจ และต้องการหยุดการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมน ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่น ๆ มาทดแทนเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
อย่างไรก็ตาม มีแพทย์ที่เห็นต่างออกไป นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้คำแนะนำว่า ผู้หญิงที่ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงสำหรับคุมกำเนิดหรือภาวะเกี่ยวข้องกับข้อมูลควรที่จะหยุดก่อนที่จะฉีดวัคซีนทั้งนี้อย่างน้อย 14 วัน ถ้าทำได้
ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ยังระบุเกี่ยวกับหญิงตั้งครรภ์ด้วยว่าสามารถรับวัคซีนได้ ยกเว้นกรณีที่มีข้อห้าม เช่น มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งแรก นอกจากนี้ระยะเวลาที่ควรฉีดวัคซีนคือ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือน และหญิงที่ให้นมบุตรสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้
WHO ว่าอย่างไร เกี่ยวกับวัคซีนหลักในไทย
องค์การอนามัยโลก ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน เรื่อง ข้อมูลโควิดและการกระจายวัคซีนในประเทศไทย ผ่านทางทางซูม มีข้อมูลที่น่าสนใจ นำเสนอโดย ดร.ซุมยา สวามินาธาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ดังนี้
หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก ได้เปิดข้อมูลของวัคซีนที่ใช้กันแพร่หลายทั่วโลก พบว่า แอสตร้าเซนเนก้ามาเป็นอันดับ 1 ตามด้วย ไฟเซอร์ ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นา และกามาลาย่าของรัสเซีย และยังมีวัคซีนหลาย ๆ ชนิดที่ทยอยส่งเอกสารเพื่อใช้ในการอนุมัติการใช้ฉุกเฉิน
สำหรับวัคซีนหลักที่ใช้ในไทย ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า ดร. ซุมยา กล่าวว่า ในการทดลองหลาย ๆ ประเทศ พบว่าแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพ 63% ในการป้องกันการป่วยแบบมีอาการ
อย่างไรก็ตาม ตามที่มีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตัน มีอัตราการเกิด 1 ในล้าน หรือพบ 4 โดส ใน 1 ล้านโดส และให้คำแนะนำว่า หากโดสแรกฉีดแอสตร้าเซนเนก้า โดสที่สองก็ควรจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าเช่นเดียวกัน
นักวิทยาศาสตร์ของ WHO ยังได้แสดงประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค และซิโนฟาร์ม ที่ WHO เพิ่งอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินตัวล่าสุด ว่าเป็นวัคซีนเชื้อตายทั้งสองยี่ห้อนี้ ป้องกันเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ 100% สามารถฉีดในคนอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องฉีด 2 โดส นอกจากนี้สามารถใช้ได้ในกลุ่มคนที่อาจจะมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำด้วย แต่กรณีผู้ที่มีปฏิกิริยาแพ้รุนแรงเมื่อฉีดโดสที่ 1 ไม่ควรจะฉีดวัคซีนชนิดเดียวกันในโดสที่ 2
จากตารางที่มีการนำเสนอ พบว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม มีการระบุอายุขั้นต่ำอยู่ที่ 18 ปี ส่วนอายุสูงสุดไม่มีการกำหนดไว้ แต่มีหมายเหตุว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไปจำกัด
ชี้ไม่ควรเทียบประสิทธิภาพวัคซีน
สำหรับประสิทธิภาพของวัคซีนตามรายงานขององค์การอนามัยโลก เมื่อรับครบสองโดส มีดังนี้
แอสตร้าเซนเนก้า 63% ซิโนแวค 51% ซิโนฟาร์ม 79%
อย่างไรก็ดี หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ขององค์การอนามัยโลก บอกว่าไม่ควรเปรียบเทียบประสิทธิภาพ เนื่องจากระเบียบการวิจัยของแต่ละประเทศต่างกัน รวมไปถึงระดับการระบาด ท้ายที่สุดต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ของวัคซีนในการป้องกันการเสียชีวิตและเจ็บป่วย
“เราไม่สามารถเปรียบเทียบกันว่าแบบนี้ 65% หรือ 90% ต้องดูปัจจัยอื่น ๆ ด้วย”
WHO กล่าวอีกว่า ตอนนี้กำลังจะมีวัคซีนที่อนุมัติให้ใช้ในกลุ่มประชากรเด็ก คือ ไฟเซอร์ แต่เธอย้ำว่าอาจจะไม่กังวลกับเด็กและเยาวชนมาก เพราะหากเด็กติดเชื้อจะไม่รุนแรงเท่ากับกลุ่มสูงอายุและกลุ่มที่มีโรคประจำตัว
ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส มีภูมิคุ้มกันนานแค่ไหน
ดร.ซุมยา ระบุว่า ข้อมูลที่องค์การอนามัยโลกมีเท่ากับช่วงระยะเวลาของการเกิดโรค คือ ราว 6 เดือนเท่านั้น แต่การทดลองในคนยังมีไม่มาก หากจะเห็นภาพได้ชัดขึ้นต้องใช้เวลา 1 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ผู้ผลิตวัคซีนกำลังพยายามศึกษาว่าจะต้องฉีดกระตุ้นมากน้อยแค่ไหน
นักวิทยาศาสตร์จาก WHO ย้ำว่า วัคซีนทุกชนิด ยังอยู่ระหว่างเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการตั้งโคฮอร์ทที่รับข้อมูลจากหลาย ๆ ประเทศ
หากฉีดครบ 2 โดสแล้วยังติดเชื้อ จะมีการฉีดกระตุ้นหรือไม่
ดร.ซุมยา ตอบคำถามนี้ว่า สำหรับการฉีดกระตุ้นโดสที่ 3 ยังไม่มีคำแนะนำออกมา ปัจจุบันกำหนดไว้ที่ 2 โดส โดยจะต้องฉีดให้ครบถ้วนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม