ผู้ได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดสแรก ในวันเริ่มต้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ครั้งใหญ่ทั่วประเทศ เมื่อ7 มิ.ย. หลายรายได้รับนัดหมายให้ฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ในช่วงปลายเดือน ก.ย. หรือเป็นเวลา 16 สัปดาห์ ซึ่งแตกต่างจากคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และอีกหลายประเทศที่เว้นระยะไว้สูงสุดที่ 12 สัปดาห์
จากการสำรวจของบีบีซีไทยในผู้ที่ได้รับวัคซีน 2-3 ราย ที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ที่ จ.ฉะเชิงเทรา และคนวัยทำงานที่ลงทะเบียนผ่านประกันสังคม จ.นนทบุรี ซึ่งฉีดเข็มแรกวันที่ 7 มิ.ย. ได้รับนัดหมายจองฉีดเข็มสองในวันที่ 27 ก.ย. หรือ 16 สัปดาห์
อีกรายหนึ่งในกรุงเทพฯ ฉีดเข็มแรกที่สถานีกลางบางซื่อวันที่ 8 มิ.ย. ได้รับนัดเข็มสองวันที่ 31 ส.ค. หรือเว้นห่าง 12 สัปดาห์
แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19 ในสถานการณ์ระบาด ปี 2564 ของประเทศไทย โดยกรมควบคุมโรค ณ เดือน มิ.ย. 2564 ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์รัฐบาล แสดงข้อมูลของวัคซีนแต่ละชนิดที่มีการรายงานผลการศึกษาระยะที่ 3 ว่าต้องฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 4-12 สัปดาห์ แต่ระบุไว้ด้วยว่า “กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้ห่างกัน 10-12 สัปดาห์ และพิจารณาให้เลื่อนได้ถึง 16 สัปดาห์ ถ้าจำเป็น”
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ระยะการฉีดระหว่างโดสแรกและโดสที่สองอยู่ที่ระหว่าง 8-12 สัปดาห์ ส่วนระดับภูมิคุ้มกันในระยะยาวหลังจากฉีดโดสแรกจะยาวแค่ไหนยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
ด้านกรมควบคุมโรค ชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า การขยายเวลาออกไปเป็น 16 สัปดาห์ พิจารณาผลวิจัยเข็มแรกแอสตร้าเซนเนก้าว่ามีประสิทธิภาพ 80% ดังนั้น การยืดระยะห่างออกไปจะทำให้กระจายวัคซีนเข็มแรกได้มากขึ้น
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่าการขยายเป็น 16 สัปดาห์เป็นประโยชน์ต่อการคุมระบาดโดยรวมเช่นกัน แต่ย้ำข้อเสียว่า ประสิทธิภาพสู้การให้วัคซีนครบสองเข็มไม่ได้ โดยเฉพาะการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้
อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจาก นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ชี้ว่าการยืดระยะห่างออกไปถึง 16 สัปดาห์ “น่ากังวล”
นพ. ธีระวัฒน์ เห็นว่าควรฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรมากถึง 90% ให้ครบสองเข็ม ภายใน 2 ถึง 2 เดือนครึ่ง เพื่อสู้กับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่อาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศ อันจะมีผลต่อวัคซีนที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันได้
หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ กล่าวกับบีบีซ๊ไทยว่า การเว้นระยะที่นานถึง 16 สัปดาห์ มีที่มาจากความคิดที่ผสมกันกันระหว่าง “จำนวนวัคซีนที่ไม่พอ” จึงต้องการฉีดเข็มแรกในประชากรให้ได้เยอะที่สุด ประกอบกับเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่ตัววัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าทำให้ระบบภูมิคุ้มกันขึ้นค่อนข้างเร็วประมาณ 14 วันในเข็มแรก ดังนั้นเองระยะเวลา 3-4 เดือน “จะได้มีเวลาหายใจหายคอเพื่อจะหาปริมาณของวัคซีนได้ทัน”
กรมควบคุมโรค ระบุ พิจารณาผลวิจัยเข็มแรกแอสตร้าเซนเนก้าประสิทธิภาพ 80%
นพ.เฉวตสรร นามวาท ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวกับบีบีซีไทยว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า จากผลวิจัยจากการฉีดและกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ เห็นว่าในเข็มแรกประสิทธิภาพไปได้ 80% แล้วเข็มสองจะขึ้นเป็น 90% ดังนั้น การยืดระยะห่างออกไปจะทำให้กระจายวัคซีนเข็มแรกได้มากขึ้น
“เมื่อเข็มแรกกระตุ้นภูมิได้สูงมาก ๆ ใกล้เคียงกับเข็มสอง เพราะฉะนั้นการขยายออกไปให้เป็น 16 สัปดาห์ จะเป็นข้อดีว่าวัคซีนที่ควรจะเริ่มเข็มสองให้ไว ก็กลายเป็นกระจายเป็นเข็มหนึ่งได้เยอะขึ้นก็จะเป็นประโยชน์”
ส่วนที่มาของการขยายเป็น 16 สัปดาห์นั้น ทางคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่พิจารณาได้ดูข้อมูลหลายส่วนประกอบกัน เท่าที่รับทราบมาจะพิจารณาเรื่องประโยชน์ของการควบคุมโรค
ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวด้วยว่าระยะเวลาที่ขยายออกไปไม่มีผลต่อการลดลงของภูมิคุ้มกัน แต่การลดน้อยลงมีโอกาสเป็นไปได้ถ้ามีการเว้นระยะเป็นปี เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ที่มีการฉีดทุกปี โดยทั่วไป ฉีด 6 เดือน ถึง 1 ปี
ส่วนผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ การขยายเวลาฉีดเข็มที่สองออกไปไม่มีผล
นพ. ยง ชี้ เป็นประโยชน์ต่อการคุมระบาด แต่ต้องระวังเชื้อกลายพันธุ์แอฟริกาใต้
ด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นต่อระยะห่างของการให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าไว้บนเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan วันนี้ (9 มิ.ย.) ว่า การกำหนดช่วงระยะเวลา 16 สัปดาห์ เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยโดยภาพรวม โดยยกกรณีตัวอย่างในอังกฤษและสกอตแลนด์
อย่างไรก็ตาม นพ. ยง ระบุด้วยว่าการยืดเข็มที่ 2 ออกไป มีข้อเสียที่ประสิทธิภาพสู้การให้วัคซีนครบสองเข็มไม่ได้ โดยต้องคำนึงกรณีที่เชื้อกลายพันธุ์โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้หรือเบต้า สำหรับวัคซีนทั่วไปประสิทธิภาพลดลงอยู่แล้วก็อาจจะป้องกันไม่ได้ แต่สายพันธุ์อังกฤษและอินเดียไม่น่าจะมีผลมาก
นพ.ยง เห็นว่าสถานการณ์ระบาดในไทยที่กำลังอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” จึงมีความจำเป็นต้องให้แอสตร้าเซนเนก้าปูพรมในแนวกว้างให้มากที่สุดก่อน โดยต้องระดมทรัพยากรทั้งหมดรวมทั้งวัคซีน มาใช้ในการให้วัคซีนเข็มแรก ภายใน 16 สัปดาห์ ประชากรส่วนใหญ่ทั้งประเทศก็จะได้วัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม แล้วค่อยไปเติมเข็มที่ 2 ภูมิจะสูงขึ้นและอยู่นาน
“สิ่งสำคัญในระหว่างนี้ จะต้องเฝ้าระหว่างสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่อาจจะสร้างปัญหาในระดับที่ภูมิต้านทานยังไม่สูงมากเกิดขึ้นได้ สายพันธุ์อังกฤษและอินเดียไม่น่าจะมีปัญหา
การควบคุมการระบาดในประชากรหมู่มาก ทั้งประเทศไทย ในภาวะที่ทรัพยากรที่จำกัด จึงจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวม ดังนั้น การกำหนดระยะห่างไปที่ 16 สัปดาห์ จึงเป็นการที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทยในภาพรวม” นพ.ยง กล่าว
หมอธีระวัฒน์ จุฬาฯ ชี้ปัญหาจากการเว้นระยะห่าง 16 สัปดาห์
ด้าน นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา แห่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอย่าง อังกฤษ หรือการศึกษาขององค์การอนามัยโลกเอง เริ่มพบว่า ระยะเวลาที่ห่างเกินไปของเข็มที่ 1 และ 2 ทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อเริ่มลดถอยลง แม้อาจจะเห็นไม่ชัดสำหรับสายพันธุ์ตามปกติของอังกฤษ “แต่สายพันธุ์ที่พบในอังกฤษถ้ามีรหัสพันธุกรรมมีการผิดเพี้ยนออกไป 1 ตำแหน่ง ตรงนี้ก็เริ่มมีการหลุด”
ขณะเดียวกันที่ อังกฤษมีสายพันธุ์อินเดีย ตรงนี้เองทำให้มีการกระชับระหว่างเข็มที่ 1 และ 2 ให้เร็วขึ้น
สำหรับประเทศไทย นพ. ธีระวัฒน์ ชี้ว่า 16 สัปดาห์ของระยะห่างการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า “น่ากังวล” หากพบไวรัสที่รหัสพันธุกรรมผิดเพี้ยนออกไปเช่นที่เกิดในอังกฤษ
“การสู้กับโควิดต้องตีให้เร็วที่สุดและหนักที่สุด การตีโควิดให้หนักที่สุดหมายความว่าจะต้อง ฉีดวัคซีนให้คลุมประชากร 70-90% ทั้งประเทศไทยให้ได้สองเข็มนะครับ ไม่ใช่เข็มเดียวให้เสร็จภายใน 2 เดือน หรือ 2 เดือนครึ่ง”
นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่าขณะนี้โรงพยาบาลนั้นเต็มไปด้วยผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ธรรมดา หากยังคุมไม่ได้โรงพยาบาลก็ยิ่งล้น และเมื่อมีไวรัสสายพันธุ์ใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ เช่น อินเดีย แอฟริกาใต้ และระบาดจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศจะทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งมีผลต่อวัคซีนที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันได้
“หากเรายังคุมสายพันธุ์ธรรมดาไม่ได้ รพ.ก็เต็ม และเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาเรื่อย ๆ อินเดียเต็มไปหมดแล้วในประเทศไทย ขณะที่แอฟริกา รออีกสักพักก็เต็มประเทศไทย เพราะอยู่ 3-4 จังหวัดภาคใต้เต็มไปหมด และถ้ารวมกับสายพันธุ์เก่า มันก็จะมาแชร์ส่วนแบ่งของปริมาณสายพันธุ์ไวรัสในประเทศไทย ตรงไหนแพร่ได้เร็วมันก็จะเข้ามาครองตลาด ตรงนั้นเองเราจะเจอระลอกใหม่ ซึ่งวัคซีนเก่าเอาไม่อยู่ และคนไข้จะเต็ม รพ.ไปหมด” นพ.ธีระวัฒน์กล่าว
คำแนะนำขององค์การอนามัยโลกว่าอย่างไร
คำแนะนำชั่วคราวเกี่ยวกับการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า คณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (Strategic Advisory Group of Experts: SAGE) ที่มีการรีวิวล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 แนะนำระยะห่างของการฉีดเข็มที่ 1 และ 2 ไว้ที่ 8-12 สัปดาห์ และระบุด้วยว่า “หากเข็มสองถูกฉีดในช่วงเวลาที่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ โดยไม่เจตนา ไม่จำเป็นต้องมีการฉีดซ้ำ แต่หากเข็มที่สองมีการฉีดที่ล่าช้าเกินกว่า 12 สัปดาห์ โดยไม่เจตนา ควรฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ปลัด สธ.เคยบอกขยายช่วงเวลา มีข้อมูลวิชาการรองรับ
ประเด็นการเลื่อนฉีดวัคซีนเกิดขึ้นครั้งแรก เมื่อเดือน พ.ค. เมื่อโรงพยาบาลบางแห่งแจ้งเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป ทำให้มีการชี้แจจากกระทรวงสาธารณสุข นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ว่าเนื่องจากสถานการณ์ระบาดจำเป็นต้องมีการปรับแผนกระจายวัคซีน เพื่อให้ฉีดแก่ประชาชนมากขึ้นและเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งมีข้อมูลวิชาการรองรับว่า “ภูมิคุ้มกันจะขึ้นสูงขึ้นได้เร็ว”
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ว่าสามารถรับแอสตร้าเซนเนก้ารับเข็มที่สองได้ 16 สัปดาห์ จากเดิม 10 สัปดาห์ เป็นการเลื่อนทั้งหมดให้เป็นล็อตเดียวกัน หมายถึงตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 ที่จะมีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่หนึ่ง หลังจากนั้นเข็มที่สองก็จะเป็นเดือน ต.ค. 2564
การชี้แจงของปลัด สธ. เป็นวันเดียวกับที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม รับวัคซีนแสตร้าเซนเนก้าเข็มที่สอง ซึ่งห่างจากเข็มแรก เมื่อวันที่ 16 มี.ค. เป็นเวลา 10 สัปดาห์
สเปนขยายเวลาฉีดเป็น 16 สัปดาห์ แต่อียูกำหนดช่วงสูงสุดที่ 12 สัปดาห์
จากการรายงานของรอยเตอร์ในวันที่ 24 พ.ค. แผนขยายเวลาฉีดเข็มสองสำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของไทย เกิดขึ้นถัดจากประเทศสเปนที่ขยายช่วงการฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 ออกไปเป็น 16 สัปดาห์ ซึ่งนานกว่าข้อกำหนดของสำนักงานการแพทย์ยุโรป (European Medicines Agency–EMA) ที่ระบุให้ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ซึ่งการเว้น 16 สัปดาห์ยังไม่มีการทดลองในมนุษย์
สเปนประกาศการขยายระยะเวลาระหว่างการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็ม 1 และ 2 ไปเป็น 16 สัปดาห์ สำหรับประชาชนที่อายุต่ำกว่า 60 ปี เมื่อวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมา
รอยเตอร์รายงานว่า การขยายช่วงเวลาออกไปดังกล่าวช่วยให้รัฐบาลได้มี “พื้นที่หายใจ” ในการตัดสินใจฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้อย่างปลอดภัย
ก่อนการประกาศดังกล่าว สเปนมีแผนฉีดแอสตร้าเซเนก้าให้กลุ่มคนวัยทำงานอายุตั้งแต่ 18-65 ปี ก่อนมีการขยายเพิ่มเติมให้ฉีดได้ในกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป เนื่องด้วยความกังวลเกี่ยวกับการเกิดลิ่มเลือดในประชากรวัยหนุ่มสาว
รัฐมนตรีสาธารณสุขสเปนบอกถึงเหตุผลการขยายเวลาออกไปว่า จะทำให้รัฐสามารถประเมินผลการทดสอบการฉีดวัคซีนต่างชนิดยี่ห้อได้ ก่อนที่จะพิจารณาว่าประชาชนผู้รับวัคซีนกลุ่มนี้จะฉีดแอสตร้าเซนเนก้า ในเข็มที่สอง หรือวัคซีนยี่ห้ออื่น
อังกฤษกำหนดฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็ม 2 ภายใน 12 สัปดาห์
ที่สหราชอาณาจักร ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์อินเดีย ทำให้มีการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนเร็วขึ้น และวัคซีนเข็มที่สอง จะถูกฉีดให้กลับกลุ่มเปราะบางบางกลุ่มเร็วขึ้นเช่นกัน
ข้อแนะนำในการรับวัคซีนเข็มที่สองในสหราชอาณาจักร กำหนดว่าควรฉีดภายใน 12 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดการป้องกันที่ดีที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำหรับบุคคลที่อายุมากกว่า 50 ปี หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่อาจมีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 สามารถได้รับวัคซีนได้ 8 สัปดาห์หลังจากโดสแรก เนื่องจากมีความกังวลถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อินเดีย
ทั้งนี้ สหราชอาณาจักร มีวัคซีนสำหรับการฉีดในประเทศ 3 ชนิดยี่ห้อ ได้แก่ ไฟเซอร์ แอสตร้าเซนเนก้า และโมเดอร์นา
สำหรับผู้ที่อายุต่ำกว่า 40 จะได้รับวัคซีนยี่ห้ออื่นที่ไม่ใช่แอสตร้าเซนเนก้า หากมีการจัดสรรได้ สืบเนื่องจากความเกี่ยวพันกับการทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันชนิดหายาก