42 วัน ใน กทม. ของ “ม็อบชาวนา” กับข้อครหา “เป็นหนี้เพราะไม่มีวินัย”

thai news pix

ที่มาของภาพ, Thai news pix

เข้าวันที่ 42 แล้วที่ชาวนาจาก 36 จังหวัด รวมตัวกันในนาม “เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย” เดินทางมาปักหลังกินนอนที่บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 6 หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาหนี้ชาวนา เร่งโอนหนี้สินของเกษตรกรจากธนาคารมาป็นของรัฐ หลังจากมีมติของคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ไปตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2564

ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มาจากภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และอีสาน ตลอดช่วงเวลาที่เข้ามาปักหลัก กลุ่มชาวนาได้เดินไปรอฟังคำตอบจากรัฐบาลหลายจุด เดินจากกระทรวงการคลังไปสะพานมัฆวานรังสรรค์ เดินทางไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เดินไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อผลักดันให้แก้ปัญหาหนี้สิน

“พวกเรามีอายุเฉลี่ยกว่า 68 ปี ต้องเดินด้วยเท้ากว่า 5 กม. ไปถามเพื่อได้เพียงคำตอบว่า อีกประมาณ 2 สัปดาห์จะเรียบร้อยบ้าง พรุ่งนี้จะเสร็จบ้าง กระทั่งเสร็จแล้วก็ไม่ตอบต้องให้พวกเราเดินไปถามเอง” จดหมายที่ยื่นให้กับตัวแทนรัฐบาลระบุ

ชรินทร์ ดวงดารา ชาวนาวัย 68 ปี จาก อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย บอกกับบีบีซีไทยว่า ต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา จึงต้องออกจากบ้านมากินนอนในที่ชุมนุม เพราะผ่านไปแล้วกว่า 10 เดือน ยังไม่มีอะไรคืบหน้า

“เรามา 42 วัน ก่อนเรามาไม่ได้ทำอะไรเลย ทุกอย่างเพิ่งเริ่มต้นเมื่อเรามา… เราไม่มีทางอื่นที่จะรอดได้นอกจากทางนี้”

วันนี้ (9 มี.ค.) เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ได้ยื่นรายชื่อที่รวบรวมได้จากแคมเปญรณรงค์ change.org จำนวน 31,629 คน ทั้งจากเกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นชาวนา เพื่อยื่นให้กับ นายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่กระทรวงการคลัง

สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ระบุว่า การปรับโครงสร้างหนี้ให้กับเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารรัฐ 4 แห่ง มีเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย 50,621 ราย ยอดหนี้เงินต้นกว่า 9,282 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นดอกเบี้ยกว่า 6,813 ล้านบาท

บีบีซีไทย สรุปปัญหาหนี้สินชาวนาที่เดินทางมาเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้ากลไกแก้ปัญหาผ่านกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ที่ค้างมากว่า 10 เดือน

ข้อเรียกร้องของชาวนา

24 ม.ค. 65 ชาวนา 36 จังหวัด เข้ามาปักหลักที่้ข้างกระทรวงการคลัง บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 6 เพื่อมาติดตามการแก้ปัญหาหนี้สินชาวนา ซึ่ง เมื่อเดือน เม.ย. 2564 คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2542 มีมติเห็นชอบให้โอนหนี้ชาวนาที่ติดไว้กับธนาคารรัฐไปไว้ที่ กองทุนดังกล่าว ซึ่งผ่านมาแล้ว ราว 10 เดือน ยังไม่คืบหน้า

ชรินทร์ อธิบายว่า โครงการภายใต้ กฟก. นี้ จะรับโอนหนี้ของชาวนาที่เป็นลูกหนี้กับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ตัวแทนเครือข่ายชาวนาฯ อธิบายต่อว่า การโอนหนี้ไปยังกองทุน กฟก. ดีกว่าการที่หนี้สินชาวนายังอยู่กับธนาคาร เนื่องจากจะทำให้ไม่สูญเสียที่ดินจากการผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไม่ไหว กองทุน กฟก. จะเป็นผู้รักษาที่ดินไว้ให้ แล้วให้ชาวบ้านเป็นผู้ไปผ่อนชำระคืนที่ดินเอาจากกองทุน ซึ่งไม่มีดอกเบี้ย

“ถ้าหนี้เรายังอยู่ ดอกเบี้ย มันขึ้นทุกวัน แต่ถ้าอยู่กองทุนเมื่อไหร่ ดอกเบี้ยจะหยุดทันที ไม่ได้มีดอกเบี้ย เราก็จะไม่ต้องห่วงอะไร เพราะที่ ของเราจะไม่ถูกยึดถูกขายแน่นอน เมื่อเราผ่อนชำระหมด เราก็จะได้ที่ดินเราคืน ซึ่งเราคิดว่าอันนี้เป็นทางรอดทางเดียวของเรา” ชรินทร์ กล่าว

เมื่อเดินทางมาชุมนุมเรียกร้อง เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย พบว่า ยังไม่มีการดำเนินการยกร่างของโครงการดังกล่าว เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาแต่อย่างใด กระบวนการทั้งหมด เพิ่งเริ่มต้นเมื่อกลุ่มชาวนา เดินทางมาประท้วง ในช่วงปลายเดือน ม.ค. นี้เอง

มีอะไรคืบหน้าบ้าง

ชรินทร์ บอกบีบีซีไทยว่า ระหว่าง 42 วันที่ผ่านมา กลุ่มชาวนาต้องไปตามหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ข้อมูลและเหตุผล เช่น สำนักงบประมาณ สำนักเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงเกษตร สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

2 ก.พ. 2565 เครือข่ายชาวนาฯ เดินทางเข้าพบนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หลังการหารือ ได้มีการตั้งคณะทำงานติดตามผลการดำเนินงานของ กฟก. หลังจากนั้น รมว.เกษตรฯ ได้ส่งเรื่องไปยังรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเมื่อ 24 ก.พ. ต่อมาวันที่ 7 มี.ค. กลุ่มชาวนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ได้เดินเท้าไปทวงถามที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นระยะทาง 5 กิโลเมตร ได้รับคำตอบว่า “รองนายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ กลับวันที่ 12 มี.ค. 65”

ที่มาของภาพ, Thai news pix

9 มี.ค. ชาวบ้านนำรายชื่อที่ได้จากการรณรงค์ทาง change.org เร่งรัดไปยังรัฐบาล ผ่านนายไชยยศ จิรเมธากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ภายหลังจากรับหนังสือ นายไชยยศ กล่าวว่า ขณะนี้การดำเนินการกรณีการโอนหนี้ให้กับกองทุนฟื้นฟู กฟก. บรรจุเข้าที่ประชุมแล้ว คาดว่าจะเสนอ ครม. ได้ภายในวันที่ 22 มี.ค.นี้

เข้าใจหนี้ชาวนา

ชรินทร์ ชาวนาจากลุ่มน้ำบางปะกงรายนี้ ทำนามาตลอดชีวิตบนที่ดิน 50 ไร่ มีหนี้สินเฉพาะเงินต้นจากการกู้มาทำนา 1.5 ล้านบาท และดอกเบี้ยต่อปีคำนวณแล้วอยู่ที่ 1 แสนบาท

เขาเล่าว่า 8-9 ปีมานี้ ขายข้าวได้อยู่ที่ 6,000 บาทต่อตัน มาตลอดไม่เกินนี้ บางปีตกลงไปที่ 5,500 บาท ขณะที่ต้นทุน อยู่ที่ 8,000-8,500 บาทต่อตัน ดังนั้น แต่ละปีที่ผ่านมาการปลูกข้าวเป็นอาชีพอย่างเขา จึงขาดทุนทุกปี กลายเป็นหนี้สินที่สะสมจากเงินกู้ ธกส. เพื่อทำนา

ปีล่าสุด ชรินทร์ ขายข้าวได้ 45 ตัน เฉลี่ยตันละ 5,800 บาท เพราะถูกหักค่าความชื้นออกไป รวมแล้วขายข้าวได้ 261,000 บาท แต่เงินลงทุนที่ลงไปนั้นเกือบ 400,000 บาท ที่ต้นทุนสูงเพราะต้องเสียค่าน้ำมันสูบน้ำทำนา เนื่องจากที่นาอยู่ในเขตป้องกันน้ำท่วมที่จะไม่ปล่อยให้น้ำสูงมาก

ที่มาของภาพ, Thai news pix

ชรินทร์ บอกว่า แม้ขาดทุนทุกปี แต่ชาวนาอย่างเขายังต้องทำนาต่อไป เพราะหากไม่ทำต่อ ธนาคารจะถือว่าเป็นลูกหนี้ที่ไม่มีรายได้

“ถ้าได้มากเกวียนมากตัน ก็ขาดทุนมาก เป็นปกติ ไม่ทำก็ไม่ได้ เขาก็ฟ้อง เพราะถือว่าเราไม่มีรายได้ เมื่อเรากู้มาทำนาก็ต้องทำนา”

ชาวนาวัย 68 ปี บอกว่า การมีผู้ลงชื่อในการรณรงค์ “แก้ปัญหาม็อบชาวนา” กว่า 31,000 คน น่าจะเป็นครั้งแรกที่เขาได้เห็น คนทั่วไปที่ไม่ใช่เกษตรกรสนใจปัญหานี้

“มีคนเข้าใจผิดมาตลอด หาว่าเราขี้เกียจ ใช้เงินไม่เป็น ไม่มีวินัยการเงิน ชอบเอาเงินไปใช้อย่างอื่น ที่ไม่ใช่เอาไปลงทุน (ทำนา)” ชรินทร์ กล่าว ถึงสาเหตุที่เป็นหนี้จากต้นทุนการปลูกข้าวที่สูงขึ้นและราคาที่ตกต่ำ

ที่มาของภาพ, Thai news pix

เหตุที่ล่าช้า

ก่อนหน้านี้ ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ได้ส่งหนังสือ ให้กระทรวงการคลัง ในเดือน เม.ย. และ พ.ค. 2564 หลังจากนั้นกระทรวงการคลังโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เห็นว่าเพื่อความรอบคอบในการเสนอโครงการ จึงได้แจ้งข้อสังเกตในการแก้ไขปัญหาหนี้ตามโครงการฯ รวม 5 ข้อ มาในเดือน ก.ย. ปีที่แล้ว

หนึ่งในประเด็นคำถามที่กระทรวงการคลังตั้งข้อสังเกต ได้แก่ การขอรับจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาหนี้โดยให้ภาครัฐชำระหนี้แทนเกษตรกรนั้นอาจส่งผลต่อวินัยการก่อหนี้และการชำระหนี้ของลูกหนี้ และจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต

กฟก. ตอบกลับว่า กฟก. มีหลักเกณฑ์การจัดการหนี้ชัดเจน และเกษตรกรที่ได้รับการจัดการหนี้ ได้ผ่อนชำระหนี้คืนอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมเป็นเงิน 2,013.23 ล้านบาท อีกทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้ของ กฟก.ร่วมกับเจ้าหนี้ที่ผ่านมา ไม่ส่งผลต่อวินัยการก่อหนี้ และพฤติกรรมเอาอย่าง ให้เกิดขึ้นตามที่หลายฝายตั้งข้อสังเกต

ฉะเชิงเทรา

ฉะเชิงเทรา

แม่น้ำบางปะกงแหล่งชีวิต พระศักดิ์สิทธิ์หลวงพ่อโสธร พระยาศรีสุนทรปราชญ์ภาษาไทย อ่างฤๅไนป่าสมบูรณ์

Related Posts

Next Post

บทความแนะนำ

หมวดบทความ

การก่อสร้าง การขนถ่ายสินค้า การขนส่งทางทะเลหลวง การขุด หรือเจาะบ่อน้ำ การค้าวัสดุก่อสร้าง การฆ่าสัตว์ การติดตั้งประปาสายหลัก การทำดอกไม้ประดิษฐ์ การปั้มโลหะ การผลิต การบรรจุก๊าซ การผลิตน้ำมันพืช การผลิตน้ำแข็ง การผลิตปุ๋ยอินทรีย์ การผลิตรองเท้า การผลิตเคมีภัณฑ์ การรีดโลหะ ผลิตเหล็ก การหล่อหลอม การกลึงโลหะ การเคลือบ ชุบ อาบขัดโลหะ การเลี้ยงสัตว์ กิจกรรม ข่าว ตรวจหวย ธุรกิจ บริษัท มูลนิธิ ร้านค้า ร้านอาหาร วิถีชีวิต สถานที่ท่องเที่ยว สถานศึกษา สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 1 สพป.ฉะเชิงเทรา เขต 2 สพม.เขต 6 หน่วยงานราชการ อบต. เอสเอ็มอี แฟรนไชส์ โรงงาน โรงพยาบาล บริการสุขภาพ โรงเรียนกวดวิชา โรงเรียนศิลปะและกีฬา โรงเรียนสอนวิชาชีพ โรงเรียนสอนศาสนา โรงเรียนสามัญ โอทอป

Welcome Back!

Login to your account below

Create New Account!

Fill the forms below to register

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.